วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการอ่านเรื่องที่๑๑

วันที่ ๓๑ เดือน ธันวาคม   พ .ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ชัยวัฒน์ การรื่นศรี โลกและอวกาศ
          พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์ ปาเจรา  หน้า ๔๗ - ๖๐



เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์


     โลกหมุนรอบตัวเองครบ ๑ รอบ ใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมง โดย ๑๒ ชั่วโมงแรกโลกจะได้รับแสงสว่าง ส่วนอีก ๑๒ ชั่วโมงหลัง โลกจะมืดมิด เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า กลางวัน และกลางคืน นอกจากโลกจะหมุนรอบตัวเองเเล้ว ยังโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกด้วย โดยโคจรครบ ๑ รอบ ใช้เวลา ๓๖๕ วัน หรือ ๑ ปี โดยในช่วงเวลา ๑ ปีนี้ บางช่วงโลกจะมีอากาศที่หนาวบ้างร้อนบ้าง เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าฤดูกาล
     สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโลกหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์
      - การหมุนรอบตัวเองของโลกนั้น ทำให้เกิดฤดูกาลที่แตกต่างกันไป
      - โลกหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการอ่านเรื่องที่๑๐

วันที่ ๒๑ เดือน ธันวาคม   พ .ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : นายแพทย์สุเทพ ฤษฎีวณิชยา Priciple of Biology 3
          พิมพ์ครั้งที่ ๑ บริษัทสำนักพิมพ์แม็คจำกัด หน้า ๕๔๘ - ๗๔๖



สปีชีส์ทางชีววิทยาคืออะไร


     สปีชีส์ (species) เป็นคำในภาษาละตินแปลว่า "ชนิด" ใช้เรียกกลุ่มของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมนั้นนักวิทยาให้คำจำกัดความของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันหรือสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกันว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเหมือนกันในด้านต่างๆ เช่น ลักษณะทางกายภาพ ชีวเคมี และรูปแบบการดำรงชีวิต แต่อย่างไรก็ตามคำจำกัดความดังกล่าวก็มีข้อจำกัดเนื่องจากสิ่งมีชีวิตมีความหลากหลายอย่างมาก ในบางกรณีสิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กันอาจจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมากจนไม่สามารถใช้คำจำกัดความดังกล่าวได้ ตัวอย่างเช่น มีกบมากกว่า 10 สปีชีส์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมากจนไม่อาจใช้คำจำกัดความดังกล่าวแยกออกเป็นสปีชีส์ต่างกันได้ นอกจากนั้นสิ่งที่มีชีวิตที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกันได้ เช่น สุนัขพันธุ์ต่างๆจะมีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่จาการศึกษาโดยละเอียดพบว่าเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เดียวกัน เป็นต้น
     เมื่อมีความก้าวหน้าในแขนงวิชาพันธุศาสตร์ประชากร ทำให้นักชีววิทยาเข้าใจในความหมายของสปีชีส์ได้อย่างถูกต้อง โดยได้ให้คำจำกัดความของ "สปีชีส์ใหม่" ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ถูกต้อง ชัดเจน กล่าวคือ สปีชีส์หมายถึงกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มีพันธุกรรมอยู่ภายใจยีนพลูเดียวกัน สิ่งมีชีวิตในสปีชีส์เดียวกันจะสามารถจับคู่ผสมพันธ์กันได้เองตามธรรมชาติ และให้กำเนิดลูกที่ไม่เป็นหมัน ส่วนสิ่งมีชีวิตต่างสปีชีส์กันจะไม่มีการจับคู่ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ

บันทึกการอ่านเรื่องที่๙

วันที่ ๒๑ เดือน ธันวาคม   พ .ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : นายแพทย์สุเทพ ฤษฎีวณิชยา Priciple of Biology 3
          พิมพ์ครั้งที่ ๑ บริษัทสำนักพิมพ์แม็คจำกัด หน้า ๔๕ - ๖๐



ศูนย์ควบคุมระบบประสาทของสัตว์มีกระดูกสันหลัง


     ศูนย์ควบคุมระบบประสาทของสัตว์มีกระดูกสันหลังรวมทั้งคน คือ สมองและไขสันหลัง ซึ่งเจริญเปลี่ยนแปลงมาจากโครงสร้างเดียวกัน กล่าวคือ ในระหว่างการเจริญเติบโตของเอ็มบริโอในระยะสร้างอวัยวะ (organogenesis) จะมีการเจริญเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อชั้นนอก (ectoderm) กลายเป็นหลอดประสาท (neural tube) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงอยู่ด้านบนและทอดยาวตลอดลำตัวของเอ็มบริโอจากด้านหน้าไปด้านหลัง ส่วนหลอดประสาทที่อยู่ด้านหน้าจะขยายใหญ่ขึ้นและเจริญเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นสมอง ส่วนหลอดประสาทที่อยู่ด้านหลังจะเจริญเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นไขสันหลัง สมองและไขสันหลังจะเป็นเนื้อเยื่อที่ต่อเนื่องกันและมีโพรงภายในซึ่งติดต่อถึงกันได้
     ในระยะแรกของการเจริญเปลี่ยนแปลงเป็นสมอง หลอดประสาททางด้านหน้าจะขยายใหญ่และโป่งพองออกเป็น 3 ส่วน คือ สมองส่วนหน้า (forebrain) สมองส่วนกลาง (midbrian) และสมองส่วนท้าย (hindbrian)
     สมองส่วนหน้า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เทเลนเซฟาลอน (telencephalon) และไดเอนเซฟาลอน (diencephalon) เทเลนเซฟาลอนจะเจริญเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นซีรีบรัม ส่วนไดเอนเซฟาลอนจะเจริญเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นทาลามัส (thalamus) และไฮโพทาลามัส (hypothalamus)
     สมองส่วนกลาง ได้แก่ เมเซนเซฟาลอน (mesencephalon) ซึ่งจะเจริญเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นสมองส่วนกลาง สมองส่วนกลางของปลาและสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกจะมีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นส่วนกลางควบคุมและประสานงาน โดยจะรับกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึก ประมวลผลและสั่งการไปยังหน่วยปฏิบัติงาน ส่วนหนึ่งของสมองส่วนกลางจะเจริญเปลี่ยนแปลงเป็น opticlobe ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น
     สมองส่วนท้าย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมเทนเซฟาลอน (metencephalon) และไมอีเลนเซฟาลอน (myelencephalon) เมเทนเซฟาลอนจะเจริฐเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเซรีเบลลัม 9cerebellum) และพอนส์ (pons) ส่วนไมอีเลนเซฟาลอนจะเจริญเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเมดัลลา (medulla)

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการอ่านเรื่องที่๘

วันที่  ๑๐  เดือน ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ชีววิทยาอนามัย
         พิมพ์ครั้งที่ ๑ หน้า ๑๐๖ - ๑๐๙



การบำบัดด้วยยีน


     จากความรู้เกี่ยวกับความผิดปกติต่างๆในคนที่เกิดจากความบกพร่องของยีน หากสามารถใส่ยีนที่ปกติเข้าไปในเซลล์ร่างกายหรือเนื้อเยื่อที่แสดงอาการผิดปกติ แล้วทำให้ยีนนั้นแสดงออกเพื่อให้สร้างโปรตีนที่ปกติในบริเวณดังกล่าว จึงอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยบำบัดอาการบกพร่องที่เกิดขึ้นได้
     ในปัจจุบันเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการถ่ายยีนปกติเพื่อใช้ในวิธีการบำบัดด้วยยีน (gene therapy) คือการใช้ไวรัสชนิดหนึ่งเป็นตัวนำยีนที่ต้องการถ่ายเข้าสู่เซลล์คน ซึ่งยีนของไวรัสที่เป็นอันตรายต่อคนจะถูกตัดทิ้งแล้วใส่ยีนของคนที่ต้องการเข้าไปแทนที่ ไวรัสที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะมียีนที่ต้องการแทรกอยู่และมีความสามารถในการแทรกจีโนมของตัวมันเข้าสู่โครโมโซมคนได้ แต่จะไม่สามารถจำลองตนเองเพื่อเพิ่มจำนวนได้ เนื่องจากยีนที่ทำหน้าที่ดังกล่าวที่มีอยู่เดิมในไวรัสได้ถูกตัดทิ้งไปแล้ว
     วิธีบำบัดด้วยยีน แต่ละกรณีจะต้องมีการตรวจสอบอย่างเคร่ครัดในทุกขั้นตอน เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับการรักษา ตัวอย่างของโรคที่มีการบำบัดด้วยยีน เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง (Severe Combined Immunodeficiency Disordor; SCID) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถสร้างภูมคุ้มกันได้และมักเสียชีวิตจากการติดเชื่อเพียงเล็กน้อย

บันทึกการอ่านเรื่องที่๗

วันที่  ๑๐  เดือน ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : Gomdori co. ประวัติศาสตร์นานาประเทศแสนสนุก
         พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ หน้า ๘๖ - ๑๐๒



ประวัติศาสตร์เยอรมนี


ยุคโบราณ
     ประวัติศาสตร์เยอรมนีเริ่มราวศตวรรษที่ ๔ เมื่อชนเผ่าแฟรงก์ก่อตั้งจักรวรรดิแฟรงก์ขึ้นมา ในยุคของพระเจ้าชาร์เลอมาญผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิชาเลอมาญ สามารถขยายอาณาเขตไปถึงฝรั่งเศสในปัจจุบันและพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยอรมนี แต่หลังจากพระองค์สวรรคต อาณาจักรแห่งนี้ก็แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ทิศตะวันออกคือเยอรมนีทิศตะวันตกคือฝรั่งเศส ส่วนตรงกลางเป็นดินแดนที่ฝรังเศสและเยอรมนีแย่งชิงกัน
ยุคกลาง
     หลังจากพระเจ้าออทโทที่ ๑ แห่งจักรวรรดิแฟรงก์ตะวันออกปกครองเหนือดินแดนแถบกลางของยุโรป จึงก่อตั้งเป็นอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่หลังจากเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนา ทำให้อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แยกออกเป็น ๒ ส่วน สุดท้ายก็ล่มสลายใรศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อนโปเลียนขึ้นมามีอำนาจ
สมัยใหม่
     ปี ค.ศ. ๑๘๖๑ ออทโท ฟอน บิสมาร์ค เสนาบดีของปรัสเซีย รวมเยอรมนีกับปรัสเซียเข้าด้วยกัน โดยใช้นโยบายเลือดและเหล็ก ซึ่งใช้กำลังทหารทำให้เยอรมนีรวมเป็นหนึ่งได้สำเร็จ และสถาปนาจักวรรดิเยอรมนีขึ้น แต่ก็ต้องล่มสลายเมื่อเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑
ปัจจุบัน
     หลังสิ้นสุดสงคราม เยอรมนีเปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบสังคมนิยม แต่หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. ๑๙๒๙ ฮิตเลอร์และนาซีฉวยโอกาสล้มล้างระบอบสังคมนิยม จากนั้นยึดดินแดนของออสเตรียและเชกโกสโลวาเกียเป็นของตัวเอง และบุกยึดโปแลนด์ จนกลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมาปี ค.ศ. ๑๙๔๕ เยอรมนีก็ยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บันทึกการอ่านเรื่องที่๖

วันที่  ๓๐  เดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล มนุษย์กับจักรวาล         
พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์สารคดี หน้าที่ ๖๐ - ๘๐




ทำไมมนุษย์ต่างดาวต้องมีเสาอากาศที่ศรีษะ
  


มนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือไม่ ? ยังไม่เป็นที่ทราบกันจริงๆว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือไม่ แต่ด้วยเหตุผลทา
วิทยาศาสตร์และความเชื่อทั่วๆไปในวงการวิทยาศาสตร์ มนุษย์ต่างดาวก็น่าจะมีจริง เพราะชีวิตแรกเริ่มบนโลกซึ่งต่อมาก็มีวิวัฒนาการจนกระทั่งเกิดมีมนุษย์ขึ้นมานั้น ก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากสภาพที่เหมาะสมบนโลก นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จึงเชื่อกันว่า ถ้าดาวเคราะห์ดวงื่นๆในจักรวาลมีสภาพที่เหมาะสม ก็จะต้องมีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาเช่นกัน และก็น่าจะต้องมีวิฒนาการต่อๆมาจนกระทั่งเป็นสิ่งมีชีวิตั้นสูงถึงระดับเป็นมนุษย์ได้เช่นกัน
     มนุษย์ต่างดาวเป็นอย่างไร เหมือนกับมนุษย์บนโลกหรือไม่ ทำไมภาพวาดของมนุษย์ต่างดาวจึงมักจะมีเสาอากาศรับส่งสัญญาณที่ศรีษะ ๒ อันด้วย และมีหัวกลมๆคล้ายเกาะเหล็กใส่อยู่ทั้งตัวเหมือนหุ่นยนต์ ผู้วาดเคยเห็นหรือ เคยรู้ถึงวิวัฒนาการและความเจริญทางวิทยาศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของเขาหรือ ?
ถ้ามนุษย์ต่างดาวมีจริง ลักษณะของมนุษย์ต่างดาวจะขึ้นอยู่กับสภาพหลายๆอย่างของดาวเคราะห์นั้น เช่น เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กใหญ่อย่างไร บรรยากาศหายใจประกอบด้วยธาตุอะไร อาหารเป็นอย่างไร แสงสว่างและความร้อนจากดาวฤกษ์อันเป็นเสมือนดวงอาทิตย์ของเขานั้นเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือโอกาสที่มนุษย์ต่างดาวจะเหมือนกับมนุษย์โลกนั้นมีน้อยเหลือเกิน นั่นคือมนุษย์ต่างดาวก็คงจะเป็นเสมือนกับสัตว์ประหลาดสำหรับเขา ลักษณะประหลาดๆของมนุษย์ต่างดาวเหล่านั้น ก็เกิดจากจินตนาการของผู้วาดและผู้ให้ข้อมูลรวมทั้งเจตนาด้วย

บันทึกการอ่านเรื่องที่๕


วันที่  ๓๐  เดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล มนุษย์กับจักรวาล         
พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์สารคดี หน้าที่ ๔๐ - ๕๕





อำนาจของหลุมดำ



     เนื่องจากหลุมดำมีแรงดึงดูดโน้มถ่วงมหาศาล ดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าใกล้มิให้หนีออกไปจากหลุมดำได้ แม้แต่แสงก็หนีออกจากหลุมดำไม่ได้ (จึงมองไม่เห็นและจึงมีชื่อเรียกว่า หลุมดำ) ดังนั้วัตถุที่ถูกหลุมดำดูดเข้าไปจะไม่สามารถคงสภาพเดิมอยู่ได้ จะต้องแตกสลายเปลี่ยนสภาพกลับไปสู่สภาพองค์ประกอบเล็กที่สุดคือ อะตอม และแม้แต่อะตอมก็อาจจะคงสภาพอยู่ไม่ได้ อาจจะแตกสลายต่อไปเป็นองค์ประกอบพื้นฐานเล็กลงไปอีกเป็นอิเล็กตรอน โปรตอน นิวตรอน หรือองค์ประกอบที่เล็กลงไปอีก คือ ควาร์ก (Quark)
     จริงๆแล้วมาถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีข้อมูลความรู้น้อยมากเกี่ยวกับหลุมดำ และยังไม่ทราบจริงๆหรอกว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับวัตถุที่ถูกหลุมดำดูดเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดสุดท้ายของการแตกสลายจะหยุดอยู่ที่ไหน คือ หยุดอยู่ที่เป็นอะตอม หรือเล็กลงไปเป็นอิเล็กตรอน โปรตอน นิวตรอน หรือเล็กลงไปอีกเป็นควาร์ก แต่ที่แน่ๆคือ ถ้ายานอวกาศและมนุษย์ถูกหลุมดำดูดเข้าไป ก็เป็นอันสวัสดีชั่วนิรันดร์กันได้เลย ยกเว้นแต่ว่า มีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับหลุมดำที่นักวิทยาศาสตร์ยังคาดกันไม่ถึงจริงๆ
     มีนักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอแนวความคิดที่แปลกใหม่ว่า หลุมดำอาจเป็นทางลัดเชื่อต่อระหว่างจักรวาลหรือมิติได้ กล่าวคือ เมื่อวัตถุหนึ่งถูกดูดเข้าสู่หลุมดำทางหนึ่ง ก็ออกไปจากหลุมดำอีกทางหนึ่งสู่จักรวาลหรือมิติใหม่ และมีการตั้งชื่อส่วนที่เป็นช่องหรือทางออกจากหลุมดำเปิดสู่อีกจักรวาลหรือมิติหนึ่งว่า หลุมขาว (White Hole) แต่ก็เป็นเพียงทฤษฎี ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บันทึกการอ่านเรื่องที่๔

วันที่  ๒๓  เดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ผศ. ดร. ฉัฐไชย์ ลีนาวงศ์ ตรรกะแห่งการพิสูจน์         
พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์ท้อป จำกัด หน้า ๒ - ๑๕




ความจริงของการพิสูจน์ (The Truth of It All)
     


     จุดมุ่งหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักคณิตศาสตร์ คือ การค้นหาความจริงทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Truth) และสื่อสารความจริงนั้นผ่านบทพิสูจน์ (Proof) ด้วยภาษาคณิศาสตร์ เนื่องจากภาษาคณิตศาสตร์มีคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ความถูกต้องแม่นยำ บทพิสูจน์ที่ดีควรจะถูกนำเสนออย่างเป็นขั้นตอน ติดตามโดยปราศจากความคลุมเครือ ดังนั้น บทพิสูจน์ที่ดีจึงไม่ควรมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้อง แต่บางครั้งบทพิสูน์ในบทความวิชาการหรือตำราเรียนถูกนำเสนอโดยย่อสำหรับกลุ่มคนที่เข้าใจภาษาคณิตศาสตร์อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะเข้าใจและสามารถเขียนบทพิสูจน์ได้ เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาใหม่และแนวคิดใหม่นี้ อธิบายเทคนิควิธีการพิสูจน์แบบต่างๆแต่ละวิธีมีการทำงานอย่างไร เราควรเลือกใช้วิธีนั้นๆเมื่อใด และเพราะเหตุใด ซึ่งโดยส่วนใหญ่รูปแบบของโจทย์ปัญหาที่เรากำลังทำการพิสูจน์จะเป็นตัวบ่งบอกว่าวิธีการพิสูจน์ใดเหมาะสม นอกจากเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้อ่านสามารถเขียนบทพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ได้ด้วยตนเองแล้ว ยังจะอธิบายถึงการอ่านและวิเคราะห์บทพิสูจน์ที่มีผู้อ่านเขียนเอาไว้แล้วด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีบ่อยครั้งที่ผู้เขียนบทพิสูจน์จะละบางขั้นตอน     ความหมายของบทพิสูจน์ข้อความทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Statement) คือข้อความที่สามารถบอกได้ว่าเป็นจริง (True) หรือเท็จ (False) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง


บันทึกการอ่านเรื่องที่๓

วันที่  ๒๓  เดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล มนุษย์กับจักรวาล         
พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์สารคดี หน้าที่ ๒๐ - ๓๒




ดาวหางชนโลก
    


      โลกเคยถูกดาวหางชนหรือไม่ ?นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเคย ล่าสุดก็คือการระเบิดครั้งใหญ่ที่แถบบริเวณแม่น้ำทังกัสกาในไซบีเรีย สหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ที่เรียกกันว่า การระเบิดไซบีเรีย หรือการระเบิดทังกัสกา     การระเบิดทังกัสกาเป็นการระเบิดที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวอย่างยิ่ง เทียบได้กับการระเบิดของระเบิดไฮโดรเจนขนาด ๑๒ เมกะตัน เกิดขึ้นตอนเช้าของวันนั้น เป็นลูกไฟสว่างจ้าระเบิดขึ้นเหนือพื้นดิน เห็นได้ไกลถึง ๘๐๐ กิโลเมตร เสียงระเบิดได้ยินไปไกลถึง ๘๐๐ กิโลเมตร แรงระเบิดรู้สึกไปได้ไกล ๘๐ กิโลเมตร ทำให้เกิดคลื่นแผ่นดินไหว วัดได้ทั่วโลก หมู่บ้านสองหมู่บ้านถูกพังราบ ป่าไม้ทั้งป่าถูกพังราบเป็นหน้ากลอง กินอาณาเขตบริเวณกว้างถึง ๒๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ต้นไม้ถูกแรงระเบิดพังราบเป็นแถบๆ เกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรง ท้องฟ้าแถบกลางคืนทั่วโลกสว่างอยู่หลายคืนขณะที่เกิดการระเบิด เวลาของกรุงลอนดอนเป็นเวลาเที่ยงคืน แต่ท้องฟ้าเหนือกรุงลอนดอนก็สว่างขึ้นมาดังกลางวันจนกระทั่งคนในลอนดอนสามารถอ่านหนังสือพิมพ์กลางถนนได้     แต่เดิมมาก็มีหลายทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์เสนอกันขึ้นมาเพื่ออธิบายสาเหตุการเกิดระเบิดที่ทังกัสกา ทว่าหลักฐานข้อมูลล่าสุดทำให้นักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากเชื่อกันว่า สาเหตุของการระเบิดที่ทังกัสกา มีเค้าว่าเป็นดาวหางมากที่สุด และก้าวไปไกลถึงขั้นระบุว่าดาวหางต้นเหตุระเบิดที่ทังกัสกา คือดาวหางชื่อ เองเก (Encke) มีวงโคจรปิดรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ ๓.๓ ปี การระเบิดนั้นก็เป็นการระเบิดของชิ้นส่วนดาวหางเอ็นเคที่ระเบิดเหนือทังกัสกานั่นเอง โชคดีที่การระเบิดทังกัสกาเกิดขึ้นในแถบที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น จึงไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าระเบิดนั้นเกิดขึ้นเหนือนครใหญ่ๆของโลก เช่น กรุงเทพฯ โตเกียว นึกภาพดูแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บันทึกการอ่านเรื่องที่๒

วันที่  ๒๐  เดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : สารและสมบัติของสาร
         พิมพ์ครั้งที่ ๑ หน้า ๖๘ - ๘๐


สารชีวโมเลกุล


     มนุษย์รับประทานอาหารเพื่อการดำรงชีวิต เนื่องจากในอาหารมีสารอาหารที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่และน้ำ สารอาหารบางประเภทจัดเป็นสารชีวโมเลกุล (Biomolecules) เช่น ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และกรดนิคลิอิกก็จัดเป็นสารชีวโมเลกุลเช่นเดียวกัน
     สารชีวโมเลกุล คือ สารที่สิ่งมีชีวิตสามารถนำไปใช้ในกระบวนการดำรงชีวิต มีธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน เป็นองค์ประกอบหลัก โมเลกุลมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ สารชีวโมเลกุลทำหน้าที่แตกต่างกันตามลักษณะโครงสร้าง และมีบทบาทสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต 
     สารชีวโมเลกุลมีประโยชน์มากมาย และมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย เช่น
      ๑. สลายให้พลังงาน
      ๒. ใช้ในการเจริญเติบโต
      ๓. ถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
      ๔. ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น สุขภาพผมและเล็บดี
      ๕. เป็นส่วนหยึ่งในการรักษาสมดุลของน้ำ และกรด - เบส
      ๖. เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมน เอนไซม์ และระบบภูมิคุ้มกัน

บันทึกการอ่านเรื่องที่๑

วันที่ ๒๐ เดือน พฤศจิกายน   พ .ศ. ๒๕๕๘
ที่มา : ดร. นวลจิตต์ เชาวกีรติพงศ์ สารพิษในอาหาร
          พิมพ์ครั้งที่ ๑ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช หน้า ๑ - ๑๒



สารพิษในอาหารตามธรรมชาติ


        สารพิษ ในอาหารตามธรรมชาติ หมายถึง สารเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และพบว่ามีอยู่ในอาหารบางชนิด โดยที่มนุษย์มิได้ปลอมปนใส่เข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ และสารพิษที่กล่าวถึงนี้รวมความถึงสารทุกชนิดที่เป็นต้นเหตุให้เกิดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงชีวิตอย่างที่เรียกว่า กินแล้วเสียชีวิต หรือทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ทรมาน ไม่สบาย แต่ไม่ถึงแก่ชีวิต หรือเป็นสารที่มีฤทธิ์บั่นทอนสุขภาพ หรือขัดขวางการเจริญเติบโตของร่างกายด้วย เหล่านี้ก็ถือว่าอยู่ในขอบเขตของคำว่า สารพิษในอาหาร
        ในบรรดาวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ได้แก่ พืชและสัตว์ พบว่ามีพืชบกและสัตว์น้ำบางชนิดที่มีพิษเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งสารพิษเหล่านี้บางชนิดก็มีอยู่เป็นส่วนประกอบของอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว บางชนิดก็เป็นสารพิษที่ติดมากับอาหารตามธรรมชาติที่สัตว์กินเข้าไปแล้วเกิดการเก็บสะสมสารพิษในตัวสัตว์ เมื่อมนุษย์กินสัตว์ก็ได้รับอันตรายจากสารพิษนั้น เรียกได้ว่า เป็นการรับพิษจากห่วงโซ่อาหาร
         อาหารเป็นแหล่งกำเนิดของสารพิษตามธรรมชาติที่มีโอกาสทำอันตรายต่อมนุษย์ แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ สารพิษในอาหารที่เป็นพืช สารพิษในอาหารที่เป็นสัตว์ทะเล และสารพิษในอาหารที่เป็นสัตว์น้ำจืด